วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2559

วิเคราะห์แบบทดสอบ

วิเคราะห์แบบทดสอบ
...........ลูกหลานเขาทำวิจัยในชั้นเรียน ส่งผลงานโดนตำหนิว่าเครื่องมือประเมินคือแบบทดสอบที่ใช้ คุณภาพไม่ดี พอส่งประกอบผลงานทางวิชาการ กลายเป็นจุดด้อยที่ต้องแก้ไข หลังจากร้องไห้ครบ 7 วัน ก็นึกถึงพระเจ้าตา จุดธูป เทียนบอกกล่าว่าช่วยหนูด้วยคุณตาขา อ้อนซะหวานแหววเลย จึงขอให้ส่งแบบทดสอบและคะแนนที่ได้มาดู โหนังหนู เอ้ย สงสารกรรมการเนาะ อ่านแบบทดสอบไปคงมึนหัวน่าดู มิน่าเขาขอให้แก้ทั้งฉบับ เพราะคำถามไม่รัดกุม ตัวเลือก ดิ้นได้ คำตอบถูกหลายตัวเลือกในคำถามข้อเดียว ไปปรับปรุงตามที่เขาแนะนำ แล้วเอาไปให้ผู้เชี่ยวชาญช่วย ดูก่อนเอาไปใช้ สิ่งที่หนูต้องหาค่าแบบทดสอบฉบับนี้ได้แก่
............1. ความเที่ยงตรงในการวัด
............2. ความยาก-ง่าย ของแบบทดสอบ
............3. อำนาจจำแนกแบบทดสอบ รายข้อ รายตัวเลือก
............4. ความเชื่อมั่นแบบทดสอบ
...........ถ้าหนูมีคำตอบให้ทั้ง 4 ข้อ ก็แสดงว่าหนูได้ประเมินคุณภาพของแบบทดสอบก่อนแล้ว นำไปใช้ในงานวิจัยในชั้นเรียน ผลที่ได้ก็น่าเชื่อถือและยอมรับได้ แต่ที่ทราบ หนู่ไม่มีคำตอบซักอย่างเลย เอามาใช้ดื้อ ๆ ส่งงานวิจัยชั้นเรียนไปถึงถูกตีกลับ ไงล่ะ เอาละเมื่อหนูได้ปรับปรุงแก้ไขคำถามตัวเลือกแบบทดสอบแล้ว ต่อไปวานผู้เชี่ยวชาญช่วยประเมินให้ คือหาคำตอบข้อ ที่ 1 ไง เขาเรียกการหาค่า I.O.C. (Index of Item – Objective Congruence) ดัชนีความเทียงตรงการวัดจุดประสงค์
             ให้หนูทำตารางจุดประสงค์การเรียนที่ออกข้อสอบวัด ว่าข้อนั้น ออกข้อสอบกี่ข้อ แล้วตีตารางให้คะแนนไว้ด้านขวามือ 5 ช่อง กรรมการ 5 คน ให้คะแนน +1 ถ้าเห็นว่าวัดตรงจุดประสงค์ ให้คะแนน 0 ถ้าไม่แน่ใจ ให้คะแนน - 1 ถ้าเห็นว่าวัดไม่ตรง จุดประสงค์ ผู้เชี่ยวชาญ 5 คน คือ คนที่สอนวิชาเดียวกันดีที่สุด ได้คะแนนมาก็หาค่าเฉลี่ย รายข้อ รายตัวเลือก อาจต้องทำ หลายครั้งจนกว่าจะได้คำถามและตัวเลือกที่มีดัชนีความเที่ยงตรงถึงเกณฑ์ที่ยอมรับได้ เลือกเอาซัก 0.5 ขึ้นไป
............ต่อไปหนูก็นำแบบทดสอบ ไปหาค่าความยากง่าย และหาค่าอำนาจจำแนก ตามข้อ 2 และ 3 โดยนำไปทดสอบกับ นักเรียนที่เรียนวิชานั้นมาแล้ว ซัก 3 ห้อง แล้วนำมาวิเคราะห์ ดู
............ความยากง่าย ของตัวเลือกที่ ถูก ดูที่เปอร์เซ็นต์คนตอบถูก คนตอบถูกมากเพราะง่าย ตอบถูกน้อยเพราะยาก อาจตั้งเกณฑ์พิจารณา ดังนี้ (ตั้งเกณฑ์อื่นก็ได้ ลองอ่านเอกสารตำราวัดผลประเมินผลดู)
            ร้อยละ 81-100 ง่ายเกินไป
            ร้อยละ 66-80 ค่อนข้างง่าย
            ร้อยละ 36-65 ปานกลาง
            ร้อยละ 20-35 ค่อนข้างยาก
            ร้อยละ 1-19 ยากเกินไป
.............ความยากง่ายของตัวลวง คำถามแต่ละข้อ มีตัวลวงหลายตัว เราสมมติในใจแล้วว่า น่าจะมีคนตอบผิดทั้งกลุ่ม ไม่เกิน ร้อยละ 19 ที่หลงมาเลือกตัวลวง ร้อยละ 80 เขาตอบถูก ถ้ากระนั้นจะกระจายดูว่า ลวงได้ 19 เปอร์เซ็นต์ แสดงวาลวงเก่งมาก มีคนตอบน้อยกว่านั้น ก็ลวงได้น้อย ตัวลวงที่ดีควรมีคนตอบประมาณร้อยละ 4-19  จัดเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
              ร้อยละ ระหว่าง 0.16-0.19 ลวงได้ดี
              ร้อยละ ระหว่าง 0.12-0.15 ค่อนข้างดี
              ร้อยละ ระหว่าง 0.08-0.11 ลวงได้ปานกลาง
              ร้อยละ ระหว่าง 0.04-0.07 ลวงได้น้อย ปรับปรุง
              ร้อยละระหว่าง 0.00-0.03 ลวงไม่ดี ปรับปรุง
.............วิเคราะห์หาค่าอำนาจจำแนก ต้องแบ่งนักเรียนเป็นสองกลุ่ม นำคะแนนมาจัดลำดับสูงสุดไปหาต่ำสุด แบ่งครึ่ง เป็นกลุ่มเก่ง กลุ่มไม่เก่ง แล้วนำผลการตอบไปกรอกลงในตารางวิเคราะห์ค่า p ค่า r นำผลที่ได้ไปคำนวณตามสูตรการหาค่า p ค่า r กรอกตัวเลขเป็นค่าของตัวเลือก ค่า p ที่ได้จากการคำนวณ ถ้าคูณด้วย 100 ก็คือค่าร้อยละ แปลผลตามเกณฑ์ข้างบน นั่นแหละ ส่วนค่า r ต้องหาเกณฑ์มาแปลผลใหม่ เพราะยังไม่ได้พูดถึง
…………...ค่า r คืออำนาจจำแนก จำแนกได้ว่านี่คือคนเก่ง นี่คือคนไม่เก่ง เรียกว่า อำนาจจำแนก ตัวเลือกที่ ถูก คนเก่งตอบ มาก คนไม่เก่ง ตอบน้อย ผลต่างระหว่างสัดส่วนกลุ่มเก่งกับกลุ่มไม่เก่ง มีค่าเป็น บวก ส่วนตัวลวง คนเก่งตอบน้อย คนไม่เก่ง ตอบมากกว่า ผลต่างสัดส่วนมีค่า ลบ  ตัวอย่าง นักเรียน เก่ง 50 คน ไม่เก่ง 50 คน ตอบข้อสอบข้อที่ 1 ดังนี้
                   กลุ่มเก่ง ตอบตัวเลือก         ก = 45 ข =    3  ค = 1     ง = 1
                   กลุ่มไม่เก่ง ตอบตัวเลือก     ก = 25 ข = 12   ค = 10   ง = 3
รวมจำนวนผู้ตอบทั้งหมดตอบตัวเลือก   ก = 70   ข = 15 ค =11    ง = 4
............ค่า p หาได้จากสัดส่วนผู้สอบทั้งหมด ตอบตัวเลือกนั้นกี่คน ดังนั้นจึงหาได้จาก จำนวนคนตอบทั้งเก่งไม่เก่ง ตอบตัวเลือก ก 70 คน ตัวเลือก ข 15 คน ตัวเลือก ค 11 คน ตัวเลือก ง 4 คน หารด้วยจำนวนผู้เข้าสอบ 100 คน ผลที่ได้ออกมาเป็นค่า สัดส่วนคือ ก = 0.70 ข. = 0.15 ค= 0.11 และ ง =0.04 สัดส่วนนี่ก็คือ ค่า p ของแต่ละตัวเลือก เอาไปเทียบตาราง แปลผลได้เลย   ถ้าจะเทียบร้อยละเอา 100 คูณสัดส่วน แล้วแปลผลตามตัวอย่างข้างบนก็ได้ 

.............ตัวอย่างการคำนวณค่า r ใช้ผลอันเดียวกับการหาค่า p แต่หาค่า r จะใช้สัดส่วนของกลุ่ม เก่ง เทียบสัดส่วนของกลุ่มไม่ เก่ง ดังนั้นจึงใช้จำนวนผู้ตอบ หารด้วยจำนวนคนในกลุ่มก่อน ค่อยนำมาเปรียบเทียบกัน เช่น
                                      เก่ง ตอบตัวเลือก   ก = 45 ข = 3 ค = 1 ง = 1
        คำนวณสัดส่วนหารด้วย 50 ได้ผลคือ   ก = 0.90 ข = 0.06 ค = .020 ง = 0.02
                                    ไม่เก่ง ตอบตัวเลือก ก = 25 ข = 12 ค = 10 ง = 3
        คำนวณสัดส่วนหารด้วย 50  ได้ผลคือ  ก = 0.50 ข = 0.24 ค = 0.20 ง =0.06
ผลต่างสัดส่วนผู้ตอบกลุ่มเก่งลบด้วยกลุ่มไม่เก่ง เท่ากับ 
                ก 0.90 - 0.50 = 0.40
                ข. 0.06 - 0.24 = -0.18 ค่าติดลบ
                ค. 0.02 - 0.20 = -0.18 ค่าติดลบ
                ง. 0.02 - 0.06 = -0.04 ค่าติดลบ
               ผลต่างที่ได้จากการเทียบสัดส่วนก็คือค่า r ของตัวเลือก 2 ชนิด ตัวเลือกที่ถูกคือ ก คำนวณได้ 0.40 ตัวเลือกที่เหลือ ค่าติดลบทุกตัวเลือก ถือเป็นค่าปกติ ไม่ต้องไปปรับแก้อะไร ถ้าไปเทียบเกณฑ์การแปลผล จะเป็นตัวลวงที่ใช้ได้ เพราะธรรมชาติ ตัวลวง จะลวงคนเก่งได้น้อย ลวงคนไม่เก่งได้มากกว่า เมื่อหาสัดส่วนออกมาผลจึงติดลบ ในตำราวัดผลประเมินผล เขาให้เกณฑ์การอ่านค่า r ดังนี้
                 ค่า r .40 ขึ้นไป หมายความว่า จำแนกได้ดีมาก
                 .30 - .39 หมายความว่า พอใช้ แต่ควรปรับปรุง
                 .20 - .29 หมายความว่าจำแนกน้อย ควรปรับปรุง
              ต่ำกว่า .19 หมายความว่าจำแนกกไม่ดี ไม่ควรใช้
             ค่าที่บอกเป็นค่าสำหรับแปลผลตัวเลือกที่ถูก อย่านำไปใช้แปลผลตัวลวง เราอาจตั้งเกณฑเอาเอง จากสมมติฐาน ที่ว่ากลุ่มนักเรียนปกติ จะมีคนที่อ่อนมากต่ำกว่าร้อยละ 20 นั่นคือร้อยละ 19 ลงมา แล้วเราก็นำจำนวนร้อยละ 19 นี้มากระจาย 5 กลุ่ม คือ จำแนกไม่ดี จำแนกน้อย จำแนกปานกลาง และจำแนกได้ดีเยี่ยม ก็จะได้สัดส่วนช่วง ละ 4 แต้มคือ
                ค่า r ระหว่าง 0.16-0.19 จำแนกได้ดีมาก
                ค่า r ระหว่าง 0.12-0.15 จำแนกได้ดี
                ค่า r ระหว่าง 0.08-0.11 จำแนกได้ปานกลาง
                ค่า r ระหว่าง 0.04-0.07 จำแนกได้น้อย
                ค่า r ระหว่าง 0.00-0.03 จำแนกไม่ดี
หมายเหตุ
.............1.  สถิติที่ใช้ในการคำนวณ ค่า IOC = คะแนนรวมผู้เชี่ยวชาญรายบุคคลทุกคน หารด้วยจำนวนผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด
 ............2. สูตรหาค่า p = (จำนวนผู้ตอบกลุ่มเก่ง + จำนวนผู้ตอบกลุ่มไม่เก่ง)/หารด้วย จำนวนนักเรียนทั้งสองกลุ่ม 
..............3.สูตรหาค่า r = (สัดส่วนกลุ่มเก่ง) - (สัดส่วนกลุ่มไม่เก่ง)
               สัดส่วนกลุ่มเก่งคือ จำนวนผู้ตอบกลุ่มเก่ง หารด้วย จำนวนนักเรียนในกลุ่มทั้งหมด
               สัดส่วนกลุ่มไม่เก่ง คือ จำนวนผู้ตอบกลุ่มไม่เก่ง หารด้วย จำนวนนักเรียนกลุ่มไม่เก่งทั้งหมด
................เป็นไงอ่านไหวไหม นี่แค่หาค่าความเที่ยงตรง หาค่าความยากกง่าย และหาค่าอำนาจจำแนก เท่านั้นนะ ยังไม่ได้หาค่าความเชื่อมั่นแบบทดสอบ เอาไว้ตอนต่อไปละกัน เพราะต้องใช้ค่าสถิติค่อนข้างเยอะ


       

ปล. ส่งทางอีเมลให้แล้วนะ ถ้ายังไม่พอให้เข้าไปดูเวบบลอคเพิ่มเติมได้
http://nrongnu59.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น