......................................เข้าพรรษา..............................
..........19 กรกฎาคม 2559 วันอาสาฬหบูชา 20 กรกฎาคม 2559 วันเข้าพรรษา อยากฟังเทศน์น่ะ
แต่ไม่ได้ไปวัด เลยสะกิดตาสิงห์ เพราะรู้ว่าแกชอบเทศน์ แกบอกได้สิยาย เข้าพรรษา มี สองคำนะ
เข้าก็คือเข้าไม่ใช่ออก เข้าพรรษา ออกพรรษา จึงเป็นคนละวัน ส่วนคำ พรรษาเป็นคำสันสกฤต ไม่
ใช่คำบาลี หลักภาษาไทยเขาระบุไว้ จะใช้ สอง ร กับคำที่ยืมมาจากสันสกฤต คำบาลีใช้ วัสส หรือ
วัสสา แปลว่าฤดูฝนตรงกันทั้ง พรรษา และ วัสสา เจอคำลาวหนักไปกว่านี้อีก คุณย่าคุณยายไป
ทำบุญ แกบอก ไปทำบุญวันเข้าปะสา อย่าถามหาคำควบกล้ำเลยอีสานไม่มีหรอก เข้าพรรษาแปล
ว่าเข้าหน้าฝน ความจริงมันเริ่มฤดูฝนมาแต่เดือนหกแล้ว แต่ทำไมพระจึงเพิ่งมาเข้าหน้าฝนกันกลาง
เดือนแปด แถมปีไหนมีแปดสองหน ยั่งเลือนไปแปดที่สองอีก
..............ไปดูประวัติวันเข้าพรรษา มีอยู่ข้อหนึ่งท่านว่าการไปมาไม่สะดวก พระเดินเหยีบย่ำข้าวกล้า
ชาวบ้านเสียหาย จึงให้งดและหาที่พักประจำสามเดือน จนหมดเขตหน้าฝน ค่อยจาริกใหม่ อ่านแล้ว
ก็ขำ ๆ นะ พระก็ลูกชาวบ้านจะเดินเหยียบย่ำข้าวกล้าในนาไปทำไม แต่ถ้าบอกว่า พระจาริกไปทั่วแบบ
ไม่หยุด ชาวนาก็ลำบากไม่เป็นอันทำไร่ทำนา ทิ้งไร่นาไปทำบุญ มีโอกาสได้ฟังเทศน์ บางคนโชคดี
บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน มันลาภยิ่งใหญ่กว่าถูกรางวัลที่หนึ่งอีก อย่างนี้จะพลาดได้ยังไง ข่าวพระ
มาพักแรมอยู่ไม่ไกลก็ทิ้งไร่นาไปกัน ไม่เหมือนสมัยนี้ ข่าววัวคลอดลูกออกมาสองหัว เหมารถไปกัน
แล้วการที่ทิ้งไร่นาไปหาพระนั่นแหละ ทำให้ข้าวกล้าเสียหาย ถ้าหยุดจำพรรษา 3 เดือนก็ไม่ต้องรีบ
ร้อน ไปเมื่อไรก็ได้ น่าจะหมายความอย่างนี้มากกว่า
.........พระสมัยก่อนท่านไม่ติดวัดหรอก บวชแล้วก็ออกฝึกสมาธิวิปัสสนา เดินไปตามป่าตามเขา นิยม
ไปเป็นกลุ่ม มีพระอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นหัวหน้า ใกล้วันเข้าพรรษาก็เสาะหาถ้ำ หรือที่พักที่เหมาะสม
แล้วอธิษฐานเข้าพรรษากัน พิธีการเข้าพรรษาของพระไม่มีอะไรวิจิตรพิสดาร แรม 1 ค่ำเดือนแปด
ทำวัตรเช้า ปลงอาบัติ ไหว้พระสวดมนต์จบ ก็ประชุมสงฆ์ ผู้อาวุโสก็เริ่มก่อน หันหน้าไปหาคณะแล้ว
บอกว่า
“อิมัสะมิง อาวาเส อิมัง เตมาสัง วัสสัง อุเปมิ ” หรือ
“อิมัสะมิง วิหาเร อิมัง เตมาสัง วัสสัง อุเปมิ ”
...........ความหมายว่า กระผมจะอยู่ประจำตลอดฤดูฝนสามเดือน ที่อาวาสแห่งนี้ (ที่วิหารแห่งนี้)
กล่าวแค่นี้ ทุกรูปที่จะเข้าพรรษา ก็เป็นอันจบพิธีเข้าพรรษาของพระภิกษุ ส่วนที่กลายเป็นประเพณี
ยิ่งใหญ่ ลุงทุนนับแสนนับล้านนั่นมันเรื่องของชาวบ้านคิดทำกัน มีอะไรบ้างที่แถมมากับเข้าพรรษา
............1. ถวายผ้าอาบน้ำฝน เล่าว่าสมัยพุทธกาล ผ้าหายาก พระพุทธเจ้าอนุญาตให้มีผ้าใช้เพียง
สามผืนที่เรียกไตรจีวร ผ้าอาบน้ำฝน เพิ่งจะอนุญาตในตอนหลัง คงต้องแนะนำให้รู้จัก นาวิสาขา
คนต้นคิดถวายผู้อาบน้ำฝนสักย่อ ๆ ดังนี้
............นางวิสาขา มหาอุบาสิกา เป็นพระอริยบุคคลผู้สำเร็จธรรมเป็นพระโสดาบันตั้งแต่ยังเป็นสาว
เกิดในตระกูลเศรษฐี เมืองภัททิยะ แคว้นอังคะ เป็นบุตรสาวของธนญชัยเศรษฐี และสุมนาเทวี ปู่ชื่อเมณฑก เศรษฐี ต่อมาได้ย้ายตระกูลเศรษฐีไปอยู่เมืองสาวัตถี กับพระเจ้าปเสนทิโกศล ได้แต่งงาน
กับปุณณวัฒนกุมาร บุตรของมิคารเศรษฐี นางวิสาขาถึงพร้อมด้วยความงามของสตรี (เบญจกัลยาณี)
มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้สร้างวัดชื่อพระวิหารบุพผาราม เป็นที่พำนักของพระภิกษุ
สงฆ์ ตามประวัติเล่าว่า วันหนึ่ง นางวิสาขามหาบาสิกา มาถึงวัดได้ถอดเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์
มอบให้สาวใช้ผู้ติดตาม เมื่อเสร็จกิจการฟังธรรมแล้ว ขณะเดินหลับคฤหาสน์ สาวใช้ลืมเครื่องประดับ
ไว้ที่ศาลาฟังธรรม แต่พระอานนท์ได้เก็บรักษาไว้ ต่อมาได้นำออกมาขายในราคา 9 โกฏิ กับ 1 แสนกหาปณะ (91 แสน )แต่ไม่มีใครสามารถซื้อได้ นางจึงซื้อไว้เอง นำเงินนั้นมาสร้างวัดบุพผาราม
เป็นโลหะปราสาทสวยงามแห่งแรก
............เรื่องถวายผ้าอาบน้ำฝนเกิดขึ้นวันหนึ่งนางไปนิมนต์พระพุทธเจ้าและสาวกไปฉันภัตตาหาร
งานทำบุญบ้าน รุ่งเช้าวันงานฝนตกหนัก นางใช้คนไปตาม คนใช้กลับมารายงานว่าพบแต่พวก
นิครนถ์อาบน้ำเต็มวัด นางทราบทันทีว่าคงเป็นพระท่านอาบน้ำฝนโดยเปลื้องผ้า 3 ผืนไว้ในร่ม
นั่นเอง ฝนหยุดพระก็ไปงานบ้านนางวิสาขาเพื่อฉันภัตตาหารได้ นางมีโอกาส ขออนุญาตถวาย
ผ้าอาบน้ำฝน พระพุทธเจ้าก็ประทานอนุญาต ทำให้พระภิกษุมีผ้าอาบน้ำฝนไว้ใช้แต่นั้นมา
............2. การถวายเทียนพรรษา สมัยพุทธกาล เทียนคือของหายาก ราคาแพง การใช้แสงสว่าง
ยามค่ำคืน ใช้ประทีป แบบ ไต้ทำจากยางไม้ผสมเปลือกไม้ผุ ๆ จุดติดไฟมีแสงสว่างแต่ควันมาก
เทียนจึงเป็นของดีราคาแพง ไม่ทราบประวัติความเป็นมาหรอก แต่เข้าใจได้ว่า ชาวบ้านคนมีเงิน
ทอง คงหาไปถวายพระใช้ ยิ่งเวลาเข้าพรรษาพระอยู่ประจำที่ ยิ่งต้องมีวัตถุให้แสงสว่างยามค่ำคืน ปัจจุบันเทียนเป็นของล้าสมัยแล้ว พระใช้ไฟฟ้า มีชาวบ้านหลายหมู่บ้านหันมาถวายหลอดไฟ
สายไฟกัน ขอฝากด้วย อย่าลืมถวายค่าไฟค่าน้ำให้วัดด้วย
............3. ทำบุญตักบาตร วันเข้าพรรษา ทำทานมัย สีลมัย และภาวนามัย ให้ครบ บุญกริยาวัตถุ
3 ข้อทานมัย ให้ข้าวปลาอาหารวัตถุสิ่งของเรียก อามิสทาน ให้ความรัก ความเมตตา ให้คำแนะนำ
ให้วิชาความรู้ เป็นการให้สิ่งที่มีค่าแก่ผู้รับที่เป็นนามธรรมเรียกธรรมทาน ปฏิบัติรักษาศีล 24 ชั่วโมง
โดยสมาทานศีลแต่เช้า และระวังมิให้ศีลขาด เรียกปฏิบัติศีลเป็นสีลมัย นั่งสมาธิวิปัสสนาเป็น
ภาวนามัย
...........ถึงโอกาสวันเข้าพรรษา ปรารภจะทำบุญกุศล เป็นเรื่องดี ทำมาก ๆ ยาย เพราะ บุญเท่านั้น
ที่จะขัดเกลาจิตใจของเรา ให้เบาบางจากกิเลส ทำทานมาก ๆ โลภะลดลงทำให้เป็นคนใจดีมีบารมี
สูงถือศีลสมำ่เสมอ โทสะเบาบางลงเป็นคนใจเย็น มีเมตตากรุณา หมั่นภาวนามัยบ่อย ๆ จิตใจเข้มแข็ง
โมหะความโง่งมงายลดลง ไม่ต้องไปขูดเปลือกไม้หาหวย เรื่องทำบุญ ควรทำให้มาก ส่วนที่อยากไปสวรรค์ แค่ค่านิยมตามคนอื่นเขา ไม่มีใครอยากไปหรอกไม่เชื่อถามพระดูก็ได้ ถ้ามีโอกาสไปสวรรค์
วันนี้เอาไหม ร้อยทั้งร้อยปฏิเสธ เพราะต้องตายไง ถึงจะไปสวรรค์ได้ ดังนั้นไม่ต้องวิตก วันหนึ่งเรา
ก็ต้องตาย แต่ตายมันมี 2 ทางไปที่เรียก ทุคติ กับ สุคติ แล้วเราล่ะจะไปไหน พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว
จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคติปาฏิกังขา เมื่อจิตเศร้างหมอง (เพราะกิเลส) ทุคติเป็นอันหวังได้(แน่นอน)
อีกบทหนึ่งว่า จิตเต อสังกิลิฏเฐ สุคติปาฏิกังขา เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง(เพราะกิเลส) สุคติเป็นอันหวังได้(เช่นกัน) ความเศร้าหมองของจิต มาจากกิเลส ตัวไหนล่ะ ก็ โลภะ โทสะ และ โมหะ นี่เองท่านจึง
สอนให้เรา ทำทานขัดเกลาโลภะออก รักษาศีล ขัดเกลาโทสะออก ภาวนา ขัดเกลาโมหะ ออกบ้าง
ใจมันมีปกติสุกใสสะอาด แต่ถ้ามีกิเลสมาเกาะ ใจก็เศร้าหมอง เหมือนกระจกโดนฝุ่นเกาะนั่นแหละ
การชำระใจต้องอาศัยบุญครับยาย เมื่อจิตใจเบาบางจากกิเลสมันก็สะอาด ไม่ต้องถามว่าตายแล้วไปไหน มีตั๋วสุคติแล้วนี่ แต่ถ้าทำบุญมากจริง แต่ใจยังเศร้าหมองอยู่ ตั๋วที่ถือคือตั๋วทุคตินะ ดูให้ดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น