วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ฝึกการแต่งโคลง

............................แนะนำแต่งโคลงสี่สุภาพ............................
-------------------
................ครูภาษาไทยสี่ห้าคนมาเยี่ยมที่สำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษา เลยเขต 1 ที่กระผมประจำอยู่ เขามามอบของที่ระลึกก่อนเกษียณ ดูแล้วเป็นพวกศิษย์สมัยมัธยม เคยเรียนภาษาไทยกับเรา เลยได้สนทนากันถึงการเรียนการสอน ฟังว่าสอนแต่งร้อยกรองครูเขาบอกยาก อยากได้เอกสารที่ครูเคยทำ
ไว้ ก็มีครับแจกจ่ายไป ในจำนวนนั้นมีเรื่องแนะนำการแต่งโคลงด้วย วันนี้จะเอาไปลงบลอกคุณยาย
ให้ดูเรื่องวิชาการบ้าง เพราะลงแต่เรื่องเล่า เลยนำมาปรับสำนวนภาษาบ้าง ดังนี้

...............1. แต่งโคลงก็เหมือนร้อยกรองชนิดอื่น ๆ ต้องรู้จักคำที่จะนำมาใช้ ต้องจำแผนผังบังคับได้ เห็นแผนผังแล้วก็แล้วก็เข้าใจได้ว่าคณะ สัมผัส บังคับของโคลง กำหนดไว้อย่างไร
..............คำในภาษาร้อยกรอง เหมือนคำตามหลักภาษานั่นแหละ คือประกอบด้วย หน่วยพยัญชนะ หน่วยสระ หน่วยสะกดการันต์ หน่วยวรรณยุกต์ สามารถอ่านออกเสียงเป็น พยางค์เดียว หลายพยาง และต้องมีความหมาย เรียกว่าคำ  ในภาษาร้อยกรองเรานับคำจากองค์ประกอบเดียวกันนั่นแหละ แต่มีพิเศษบางข้อคือ
..............คำหนึ่ง ๆ นิยมนับจากเสียงหนึ่งพยาง ถ้าคำใดมีหลายพยางค์ อนุโลมนับหลายคำ เช่น พระยา คือคำเดียวอ่านออกเสียง สองพยางค์ เวลาแต่งร้อยกรอง  นับสองคำได้
..............คำเดียวหลายพยางค์ มีคำควบกล้ำ อาจนับรวบหลายหยางค์เป็นคำเดียวเช่น  จุตรพิธพรชัย ช จตุ ระ พิธ ธะ พร ชัย นับ  จ ตุร พิธ พร ชัย  ต้องการนับ 5 คำ รัตนตรัย รัต ตน ตรัย ต้องการนับ 3 คำ  แบบนี้เรียกการนับอนูโลมคำเสียงควบกล้ำ คำเสียงส้ัน  
...............คำสุภาพ คือคำที่ไม่มีเครื่องหมายวรรณยุกต์ บังคับเสียง
...............คำเอก คำที่มีรูปวรรณยุกต์เอก เสียงอาจไม่ใช้เสียงเอก แต่ยังเรียกคำเอก
...............คำโท คำที่มีรูปวรรณยุกต์โทปรากอยู่
...............คำตรี คำจัตวา ไม่ได้นำมาใช้เป็นข้อกำหนดในการแต่งโคลง มีปะปนมาก็ไม่มีผลอะไร
...............คำเป็นคำตาย ควรรู้จัก เพราะการแต่งโคลง อาจต้องพึ่งคำตายแทนใน ตำแหน่งคำเอก ไม่นิยมแทนคำโท แม้คำตายบางคำมีเสียงโท
................คำเอกโทษ คำโทโทษ เป็นคำที่ได้จากการแผลงคำ เดิมรูปคำ เอก แต่เสียงโทอยากให้เป็นคำโท ก็ใช้วิธีแผลงคำ เช่น เล่น แผลงเป็น เหล้น ได้คำโทโทษ  คำ ฝ้า แผลงเป็น ฟ่า ได้คำเอกโทษ
.................คำตาย คำเป็น คำประสมสระเสียงสั้นแม่ กกา คำสะกดด้วยแม่ กก กด กบ ผันวรรณยุกต์ยาก เลยได้ชื่อว่า คำตาย นอกจากเกณฑ์นี้ ชื่อว่าคำเป็น เช่น คำประสมสระเสียงยาว ใน แม่ ก กา คำที่สะกดในแม่ กง กน กม เกย เกว จัดเป็นคำเป็น
                คำตายใช้แทนคำเอกได้ในการแต่โคลง แต่คำโท ไม่นิยมหาคำตายมาใช้แทน

...............2. แต่งโคลงต้องจำแผนผังบังคับคณะของโคลงได้  ต้องท่องจำโคลงแบบอย่างให้ได้ แล้วค่อยดูแผนผังบังคับ

ตัวอย่างโคลงสี่สุภาพที่นิยมนำไปใช้เป็นต้นแบบ

     เสียงลือเสียงเล่าอ้าง       อันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร              ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหล               ลืมตื่น ฤๅพี่
สองพี่คิดเองอ้า                     อย่าได้ถามเผือ   
                                             (ลิลิตพระลอ)
      จากมามาลิ่วล้ำ               ลำบาง
บางยี่เรือราพลาง                  พี่พร้อง
เรือแผงช่วยพานาง              เมียงม่าน มานา
บางบ่รับคำคล้อง                 คล่าวน้ำตาคลอ ๚ะ
                                       (นิราศนรินทร์)
  ........โคลงสองบทนี้ควรท่องจำไว้ใช้เป็นต้นแบบการแต่ง เพราะมีจำนวนคำ คณะสัมผัสครับถ้วนตามตำราหลักภาษาไทย
 .  มาดูกันโคลงสี่สุภาพแต่บทหนึ่ง 4 บาท แต่ละบาทมี 2 วรรค วรรคหน้า 5 คำ วรรคหลัง 2 คำ เว้นวรรคท้ายบทมี 4 คำ ใช้คำสร้อย 3 แห่งคือ ท้ายบาที่ 1 3 และ 4 ดังนั้นคำที่ใช้ ไม่นับสร้อย 7 คูณ 4 เท่ากับ 28 บวกอีก 2 วรรคสุดท้าย รวม 30 คำพอดี เติมสร้อยได้อีก 6 คำ นี่คือจำนวนคำที่ ใช้

............ตำแหน่ง เอก 7 โท 4 คำเอกอยู่ที่คำที่ 4 บาทที่ 1 คำที่ 2 และคำที่ 6 ในบาทที่ 2คำที่ 3 และคำที่ 7 ในบาทที่ 3 คำที่ 2 และคที่ 6 ในบาทที่ 4 รวมเป็น 7 คำพอดี
............คำโท คำที่ 5 บาทที่ 1 คำที่ 7 บาทที่ 2 คำที่ห้าและ 7 ในบาทที่ 4 รวมเป็นโท 4
............สัมผัสบังคับโคลงสี่สุภาพ ใช้สัมผัสสระ บทละ 2 แห่ง ได้แก่ คำที่ 7 บาทที่ 1 สัมผัสกับคำที่ 5 บาทที่ 2 และ 3  เสียงที่ 2ไดแก่ คำโทบาทที่ 2 กับคำโทที่ 5 บาทที่ 4 
............สัมผัสระหว่างบท ไม่กำหนดให้มี แต่มีผู้นิยมแต่งร้อยคำโคลง ก็สามารถทำได้โดย ใช้คำท้ายบท ส่งสัมผัสไปยังคำที่ 1 2 หรือ 3 บทต่อไป

เทคนิคการแต่งโคลง
.............เราอ่านคำโคลงที่เสียงไพเราะแล้จดจำไว้ว่า เกิดจากอะไรแล้วนำมาใช้เมื่อเวลาเราแต่งบ้าง
นอกจากนี้ในเอกสารตำราต่าง ๆ ก็มีคนแนะนำไว้มากเช้่นกัน เช่น
.............ไม่นิยมสัมผัสสระในการแต่งโคลง ซึ่งต่างจากกลอน ที่นิยมสัมผัสสระ แต่โคลงนิยมสัมผัส
พยัญชนะมากกว่า ตัวอย่างการใช้สัมผัสพยัญชนะ

            เพ็ญพบพาเพื่อนพ้อง..........พบพาน

            ยามเย็นยลเยี่ยมเย้า.............ยียวน

.............นิยมสัมผัสพยัญชนะระหว่างวรรคหน้า...วรรคหลัง 

           บางยี่เรือราพลาง     พี่พ้อง

           บางบ่อรับคำคล้อง   คล่าวน้ำตาคลอ

..............การวางจังหวะคำในการแต่งโคลง ไม่ใช่ข้อบังคับ แต่เป็นข้อควรสังเกต วรรคที่อยู่ด้านหน้ามี 5 คำ  ถ้าวางคำเป็น 2 - 3 จะอ่านเพราะกว่า วาง 3- 2  ข้อควรระวังคืออย่าให้คร่อมจังหวะ เช่น

            เป็นนักเรียน/ย่อมรู้............กิจเรียน  อ่านได้สบาย ๆ

            เป็นสาร/วัตรต้อง................ชำนาญ  สาระวัตร คร่อม เลยอ่านสะดุด

นิยมเล่นคำเดียวในหลาย ความหมาย เล่นคำว่า รัก 

           รักแม่แลพ่อล้น............รักใด
        รักเกียรติเพียงรักไฟ.......ส่องแจ้ง  
         รักคุดหม่นหมองใจ........เจ็บยิ่ง
         รักอาตม์กว่ารักล้วน.......โลกนี้ฤๅเทียม

ข้อควรระวังการแต่งโคลง

         สัมผัสสระ คำที่ประสมเสียงสั้นกับเสียงยาว .  ไม่ควรใช้ส่ง รับ สัมผัสบังคับ เช่น    คำ 
ใคร สระ เสียง ไอ  นัย  ไร  ให้  ถือเป็นเสียงเดียวกันสัมผัสได้  แต่คำ  ยาย ชาย  เป็นเสียงยาว สัมผัสกันกับคำ ใคร ไม่ได้
          คำ  กัน  การ นาน  กัน = ก+ สระ อะ + น   การ = ก + อา + ร   นาน= น+สระอา + น  

          คำประสมสระเสียงสั้น กับคำประสมสระเสียงยาว ไม่ใช้รับสัมผัสบังคับ

โคลงกระทู้ 

มีโคลงสี่สุภาพอีกแบบหนึ่ง กำหนดหัวเรื่อง มาให้แต่ง รวม 4หัวข้อ บาทละข้อ บทหนึ่ง 4 หัวข้อ

           กระทู้คำเดียวเช่น  รัก ยาว ให้ บั่น รัก สั้น ให้ ต่อ ใช้แต่งโคลง 2 บท

           กระทู้หลายคำ........รักวัว  ให้ผูก  รักลูก ให้ตี  รักดี หามจั่ว รักชั่ว หามเสา

           การแต่งโคลงกระทู้ บางทีก็คำเอกโทไม่ตรงตามแผนผัง ไม่ต้องกังวล คำกระทู้บังคับมา คนแต่งพยายามแต่งส่วนที่เหลือให้ตรงตามแผนผังบังคับ  เนื้อหาโคลงกระทู้ต้องขยายความหัวข้อที่กำหนด ให้กระจ่างชัดที่สุดเท่าที่จะทำได้ เขาเรียกตีกระทู้แตก ส่วนความไพเราะก็ยังต้องอาศัยสัมผัสในเหมือนโคลงสี่สุภาพธรรมดา ๆ
----------------------
ขุนทอง ศรีประจง










                                                                            

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น