วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

แบบอย่างกลอน

          ------------------กลอนแบบอย่าง.............................
.............มีคนถามว่าผมได้แบบอย่างการแต่งกลอนจากไหน เอาแบบที่ตรงตามฉันทลักษณ์และถือเป็นครูได้ ตอบตรง ๆ ได้เหมือนกันครับผมได้แบบอย่างกลอนของท่านสุนทรภู่ ชอบมาก อ่านจบแทบทุกเรื่อง
ขนาดตอนทำวิทยานิพนธ์ยังเลือกการทำสื่อการสอนเรื่องนิราศภูเขาทองแบบว่าชอบมากว่างั้นเถอะ ลองยกมาอ่านซักสองสามบทแล้วจะวิเคราะห์ให้ดูว่า มีอะไร ดี ๆ อยู่ในนั้น ( ขอนำโพสที่หน้าเฟซ เผื่อคนอื่นที่สนใจได้อ่านด้วย )

บทกลอนที่นำมาเป็นตัวอย่าง

.......๏ ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง…มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา…….... ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย
ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ…….…... สรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย…………..…. ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป
ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก…....... สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป…..…….. แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืนฯ
                                                                               จากนิราศภูเขาทอง

1. ผมชอบอ่านบทกลอนท่านสุนทรภู และใช้เป็นแบบอย่างสำหรับแต่งบทกลอนของตัวเอง ในแง่ฉันทลักษณ์ เราจะเห็นได้ ดังนี้

.........ท่านนิยมให้คำวรรคละแปดคำ ก็มีบ้างบางวรรคมากหรือน้อยกว่า
แต่ดูแล้วก็เข้าใจ เพราะมีคำหลายพยางค์ที่อ่านรวบจังหวะกลอนได้
.........จังหวะกลอบแบบ 3-2-3 ใช้ได้ดีกับทุกวรรค ทำให้อ่านไพเราะ
วรรคที่เกินอ่าน 3-3-3 ก็ยังอ่านได้ดี
.........ท่านระวังการใช้คำท้ายวรรคในแต่ละบท ไม่มีคำที่อ่านแล้วติดขัด
เพียงกลอน 3 บท ที่ยกมาให้อ่านจะพบว่า 
วรรคที่ 1 ไม่นิยมลงท้ายด้วยเสียงสามัญ เสียงอื่นเห็นใช้ทั่วไป
            โขมง (จัตวา)  สำเร็จ (เอก)  รัก  (โท)
วรรคที่ 2 นิยมเสียงจัตวาลงท้ายมากกว่าเสียงอื่น ๆ 
           เสา (จัตวา) หมาย (จัตวา) ไฉน (จัตวา)
วรรคที่ 3 นิยมลงท้ายด้วยเสียงสามัญ 
          เรา (สามัญ) วอดวาย(สามัญ) ไป (สามัญ)
วรรคที่ 4 นิยมลงท้ายด้วยเสียงสามัญ 
         น่าอาย (สามัญ) เกินไป (สามัญ) ค่ำคืน (สามัญ)

       ยกตัวอย่างมาแค่ 3 บท แสดงให้เห็นการใช้คำลงท้ายวรรค ในระดับเสียงวรรณยุกต์ที่ท่านนิยมใช้ ถ้าอยากให้มั่นใจก็ควรอ่านมาก ๆจะได้เห็นคำลงท้ายวรรคที่ท่านใช้แตกต่างออกไป 

2. ผมชอบกลอนสุนทรภูที่ท่านมักสอดแทรกสิ่งสอนใจคนอ่านไว้แบบไม่ให้เสียเวลาอ่านเพลิน ๆไปเฉย ๆ ได้คติ คำเตือน ความรู้ไปด้วยดังตัวอย่าง กล่าวถึงโทษของเหล้า  บทถัดจากนี้ก็กล่าวถึงการพูดจา   
การสอดแทรกแบบนี้มีมากในบทกลอนของท่าน

    ๏ ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์………. มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร……... จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจาฯ
                                                                                 จากนิราศภูเขาทอง

3. อ่านบทกลอนท่านสุนทรภู่ เข้าใจความรู้สึกขณะที่ท่านเขียนได้เลยว่า ดีใจ เสียใจ รัก ชอบ ไม่ชอบ เพราะความสามารถในการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดลงในตัวอักษรท่านทำได้ดีเยี่ยม ดูตัวอย่าง

   ๏..สำรวลกับเพื่อนรักสะพรักพร้อม อยู่แวดล้อมหลายคนปรนนิบัติ
โอ้ยามเข็ญเห็นอยู่แต่หนูพัด………. ช่วยนั่งปัดยุงให้ไม่ไกลกาย
จนเดือนเด่นเห็นกอกระจับจอก…….. ระดะดอกบัวเผื่อนเมื่อเดือนหงาย
เห็นร่องน้ำลำคลองทั้งสองฝ่าย…. .ข้างหน้าท้ายถ่อมาในสาคร
จนแจ่มแจ้งแสงตะวันเห็นพันธุ์ผัก... ดูน่ารักบรรจงส่งเกสร
เหล่าบัวเผื่อนแลสล้างริมทางจร….. ก้ามกุ้งซ้อนเสียดสาหร่ายใต้คงคา
สายติ่งแกมแซมสลับต้นตับเต่า….. เป็นเหล่าเหล่าแลรายทั้งซ้ายขวา
กระจับจอกดอกบัวบานผกา………. ดาษดาดูขาวดั่งดาวพราย
                                                                              จากนิราศภูเขาทอง
4. การสอดแทรกความรู้ความเข้าใจธรรม ท่านสุนทรภูบวชอยู่วัดหลายพรรษา ท่านถ่ายทอดหลัก
ธรรมไว้ในบทกลอนอย่างแนบเนียนเข้าใจง่าย

๏ ขอเดชะพระเจดีย์คีรีมาศ……...…. บรรจุธาตุที่ตั้งนรังสรรค์
ข้าอุตส่าห์มาเคารพอภิวันท์………... เป็นอนันต์อานิสงส์ดำรงกาย
จะเกิดชาติใดใดในมนุษย์………...... ให้บริสุทธิ์สมจิตที่คิดหมาย
ทั้งทุกข์โศกโรคภัยอย่าใกล้กราย.. ....แสนสบายบริบูรณ์ประยูรวงศ์
ทั้งโลโภโทโสแลโมหะ ………….....ให้ชนะใจได้อย่าใหลหลง
ขอฟุ้งเฟื่องเรืองวิชาปัญญายง…….. ทั้งให้ทรงศีลขันธ์ในสันดาน
อีกสองสิ่งหญิงร้ายแลชายชั่ว…........ อย่าเมามัวหมายรักสมัครสมาน
ขอสมหวังตั้งประโยชน์โพธิญาณ....... ตราบนิพพานภาคหน้าให้ถาวรฯ
                                                                            จากนิราศภูเขาทอง

5. การเล่นสัมผัสใน ถือเป็นจุดเด่นกลอนท่านสุนทรภู่ เพราะท่านสามารถสอดแทรกสัมผัสในไว้แทบทุกวรรค  ดังตัวอย่างบทกลอน  ขอเดชะพระเจดีย์คีรีมาศ ฯ จะเห็นสัมผัสใน แบบนี้

.        ...กลอนวรรคที่วางอยู่ด้านหน้า คือวรรคที่ 1 และ ของบท ตำแหน่งคำที่เล่นสัมผัสใน

  OOO  OO  OOO  มักแต่งให้คำที่ 3 และคำที่ 4 สัมผัสสระ กัน
  OOO  OO  OOO  มักแต่งให้คำที่ 5 สัมผัสสระกับคำที่ 6 หรือ 7
  OOO  OO  OOO  อาจมีสัมผัสพยัญชนะแทรกบ้างไม่มากนัก
  OOO  OO  OOO  แต่สัมผัสสระมีแทบทุกวรรค 

......กลอนวรรคด้านหลังได้แก่วรรคที่ 2และ 4 แต่ละบท        OOO  OO  OOO 
คำที่ 3 ตำแหน่งรับสัมผัสจากคำท้ายวรรคแถวหน้า               OOO  OO  OOO 
ไม่พบว่าท่านเล่นสัมผัสในแบบสัมผัสสระกับคำที่ 4              OOO  OO  OOO 
แต่พบว่าท่านเล่นสัมผัสพยัญชนะแทน หรือไม่ก็ทิ้งไป         OOO  OO  OOO 
ส่วนคำที่ 5 ยังเล่นสัมผัสในแบบสัมผัสสระได้กับคำที่ 6 หรือ 7

.........จากข้อคิดเห็นส่วนตัวที่นำเสนอไว้นี้ น่าจะพอตอบคำถามที่ว่า ผมใช้กลอนแบบอย่างที่ถือเป็นครูคือ กลอนท่านสุนทรภู่ ทุกเรื่องแหละครับ กลอนคนอื่น ๆ ที่ไพเราะก็มีนะ แต่ไม่ค่อยได้อ่านบ่อยเหมือนกลอนสุนทรภู่ ตัวอย่างกลอนที่กระผมแต่งเองก็พอมีนะครับ ลองไปดูที่ผมอัพไว้ที่เวบบลอกต่อไปนี้ ( คัดลอกไปวางกูเกิล ค้นหาให้ก็ได้ หรือวางที่แถบ เมนูบาร์ URL ของบราวเซอร์ก็ได้)

http://nrongnu59.blogspot.com/

http://khuntong52.blogspot.com/

http://mykht.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น